วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เทคโนโลยีแห่งอนาคต

โดย ทศพนธ์ นรทัศน์
เทคโนโลยี "Embeddec Internet" หรือ "อินเทอร์เน็ตแบบฝังตัว" ได้เป็นที่สนใจขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ Intel ได้ออกมาชี้ว่าโลกอินเทอร์เน็ตได้ก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีฝังตัว หรือ Embedded Technology  ตลาดเกิดใหม่ใช้การประมวลผลฝังตัวเพิ่มมากขึ้นทุกระบบไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ทั้งภายในบ้านและที่ทำงาน การเดินทาง หรืออยู่กับที่ โดยอินเทลเชื่อว่าในอนาคตอุปกรณ์ 1.5 หมื่นล้านชิ้นจะต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต ซีพียูจะมีขนาดเล็กลง กินไฟน้อย ผู้เขียนเห็นว่านี่คือเทคโนโลยีกระแสหลักที่จะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะยูสเซอร์ไม่อาจจะอยู่ในโลกที่ไร้อินเทอร์เน็ตได้อีกต่อไป และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็ไม่จำเป็นต้องผ่าน PC หรือ Laptop หรือ PDA เท่านั้น

Embedded Internet คืออะไร
Embedded Internet หรืออินเทอร์เน็ตแบบฝังตัว คือ การนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาใส่ไว้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงงานอุตสาหกรรม เช่น โทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตอล mp3 mp4 player โทรสาร พรินเตอร์ โทรทัศน์ วิทยุ ตู้เย็น รวมตลอดถึงวัสดุ อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน (Office Automation) เครื่องจักร ยานยนต์ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ  การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตดังกล่าว จะผ่านโปรโตคอล TCP/IP stack ซึ่งเป็นพื้นฐานการเชื่อมต่อ โดยสื่อที่ใช้ในการเชื่อมต่อจะมีทั้งผ่านสายโทรศัพท์ สายไฟฟ้า เครือข่าย LAN, MAN, WAN, Wi-Fi, WiMax หรือแม้กระทั่งระบบสื่อสารดาวเทียม
ในอดีตที่ผ่านมาแม้กระทั่งทุกวันนี้ แอพพลิเคชั่นหรือซอฟต์แวร์ประยุกต์ส่วนใหญ่ต้องใช้หน่วยความจำเป็นจำนวนมากในการประมวลผลข้อมูลที่มีความซับซ้อน (Complex Algorithms) แต่ระบบฝังตัวกลับมีข้อจำกัดในเรื่องต่าง ๆ เหล่านั้น ดังนั้นหากสามารถนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีฝังตัว ก็จะสามารถส่งข้อมูลไปทำการประมวลผลยังเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) ได้ ซึ่งจะส่งผลให้อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตฝังตัวดังกล่าวสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า “External Intelligence”  อินเทอร์เน็ตจึงถือได้ว่าเป็นเครือข่ายสื่อสารข้อมูลต้นทุนต่ำสามารถส่งข้อมูลถึงกันได้ทั่วโลก เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตฝังตัวจึงเป็นก้าวต่อไปในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ จึงจำเป็นต้องสร้างโปรแกรมเมอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ฝังตัวและวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโปรโตคอล TCP/IP และ IPV6 (Internet Protocol Version 6) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ในโลกอิเล็กทรอนิกส์
ระบบฝังตัว (Embedded Systems) หรือระบบคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว จึงเป็นสมองกลที่ฝังไว้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร เครื่องจักรกล เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์ของรถยนต์ เป็นต้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในชีวิตของเรา ก็คือโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โทรศัพท์แบบ IP Phone หรือเครื่องถ่ายเอกสารที่สามารถ Scan เอกสารแล้วส่งทาง e-Mail ได้ เป็นต้น การเพิ่มซอฟต์แวร์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ฝังไว้ภายใน Embedded System นี้เองได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ มีความสามารถสูงขึ้น
หากย้อนกลับไปดูในอดีต อินเทอร์เน็ตได้เชื่อมต่อกันด้วยเครื่องเมนเฟรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยเท่านั้น ต่อมาจึงเริ่มขยายการเชื่อมต่อมาสู่คอมพิวเตอร์แม่ข่ายและเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากขึ้น และเมื่อเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่มีความก้าวหน้าขึ้น การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจึงได้เข้าสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่นำมาสู่ยุคที่เรียกว่า “Ubiquitous” หรือยุคที่เราสามารถเข้าข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ทุกเวลา (Everywhere Everytime) และในอนาคตอันใกล้นี้เรากำลังจะเข้าสู่ยุคที่มหัศจรรย์ยิ่งใน ค.ศ. 2015 เมื่อมนุษย์สามารถสั่งการเว็บจากที่แห่งใดด้วยอุปกรณ์อะไรก็ได้ หรือที่เรียกว่า “Pervasive web” เพราะการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ถูกฝังตัวไว้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรานั้นเอง

สถานะภาพซอฟต์แวร์ฝังตัวในประเทศไทย
ผู้เขียนขอนำเสนอภาพกว้าง ๆ ของซอฟต์แวร์ฝังตัวในประเทศไทย ซึ่ง Embedded Internet ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย จากข้อมูลในเอกสารความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฝังตัวของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ได้ระบุว่า โครงสร้างหลักของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ประกอบด้วยตลาดย่อย 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม Transaction Software, กลุ่ม Embedded Software และกลุ่ม Digital Content โดยซอฟต์แวร์ฝังตัว (Embedded Software) เป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เกิดฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย มีบทบาทและความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มที่ผลิตภัณฑ์จะเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น จำเป็นต้องควบคุมด้วยซอฟต์แวร์ฝังตัว
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประมาณการว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฝังตัวในปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท และมีความต้องการกำลังคนในอุตสาหกรรมนี้ประมาณหนึ่งหมื่นคน ทำให้สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้ร่วมกันส่งเสริมให้มีการผลิต Microchip เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฝังตัวเป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทย มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตซอฟต์แวร์ฝังตัวให้แก่ประเทศอุตสาหกรรมที่สำคัญของภูมิภาค

พลังแห่ง Embedded Internet
พลังของ Embedded Internet จะทำให้การจัดการควบคุมสั่งการอุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Device Management) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยี UPnP (The Universal Plug and Play) ซึ่งเป็นบริการที่อนุญาตให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถค้นหาและใช้งานอุปกรณ์อื่น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ สแกนเนอร์ เครื่องพิมพ์ ผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์  ผู้ใช้สามารถ Remote เข้าไปควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถ Monitor การทำงานของอุปกรณ์ หรือการเขียนโปรแกรมควบคุมให้อุปกรณ์ส่งข้อมูลอัตโนมัติกลับมายังเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย หรือส่งข้อมูลแจ้งเตือนต่าง ๆ เข้ามายังผู้ดูแลระบบ เช่น กรณีเตือนภัยน้ำท่วม ดินถล่ม สึนามิ เป็นต้น
ต่อแต่ไปนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ จะอยู่ในโลกของอินเทอร์เน็ตแบบฝังตัว กล่าวคือการเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต การท่องเว็บ รับ-ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่อง PC หรือ Laptop เช่นเดิมอีกต่อไป ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การที่เราใช้โทรศัพท์มือถือในการท่องเว็บ รับ-ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ สนทนาออนไลน์ เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตฝังตัวก็มีความท้าทายในแง่ที่ว่ามันจะต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ใน Platforms ที่แตกต่างกัน ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ
หน้ังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2551 ได้นำเสนอเรื่อง อินเทอร์เน็ต ผังตัวอนาคตโลกยุคใหม่ไว้ว่า “Pat Gelsinger” รองประธานอาวุโส และผู้จัดการทั่วไป ส่วนธุรกิจดิจิทัล เอ็นเตอร์ไพร์ซ กรุ๊ป บริษัท อินเทล คอร์เปอเรชั่น กล่าวบนเวที Intel Development Forum: IDF ซึ่งจัดขึ้นที่ซานฟรานซิสโก ว่าโลกอินเทอร์เน็ตในมุมมองของอินเทลจะเข้าสู่ยุค Embedded Internet แบบเต็มตัว ซึ่งวันนี้ตลาดเกิดใหม่หันมาใช้ระบบประมวลผลแบบฝังตัวกันมากขึ้น โดยยกตัวอย่างของระบบเครือข่ายและระบบรักษาความปลอดภัย ระบบวิดีโออัจฉริยะ ระบบงานทางการแพทย์ ระบบข้อมูลและความบันเทิงในรถยนต์ รวมทั้งระบบอัตโนมัติบ้านพักอาศัย ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา
Gelsinger กล่าวอีกว่าตลาดนี้ก็คือโอกาสการเติบโตอีกแบบหนึ่งสำหรับอินเทลและอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งคาดว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Embedded Internet จะทำให้มีอุปกรณ์ถึง 1.5 หมื่นล้านชิ้น ที่จะใช้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตในอนาคต
อินเทลประกาศบนเวทีนี้ด้วยว่า จะเตรียมเปิดตัวชิป “Atom Dual Core” สำหรับตลาดเน็ตทอป (เดสก์ทอป) ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 ชิปดังกล่าวสร้างขึ้นจากทรานซิสเตอร์ที่เล็กที่สุดในโลก และซีพียูชิ้นเล็ก ๆ นี้ ก็เป็นพื้นฐานของการปรับเปลี่ยนแนวทางการออกแบบคอมพิวเตอร์ใหม่ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่มาพร้อมกับขนาดที่เล็กกะทัดรัด รวมถึงราคาที่ต่ำลง ทำให้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ทั่วโลกสามารถออกแบบโน็ตบุ๊คและเน็ตทอป ขยายตลาดสู่ผู้ใช้กลุ่มใหม่ ๆ และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้คอมพิวเตอร์เดิมได้อย่างทั่วถึงเมื่อผู้ผลิตสามารถนำเสนอคอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊คและเน็ตทอปที่ใช้ Intel Atom Processor ราคาประหยัดกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป ย่อมส่งผลให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ทำให้สังคมโลกกลายเป็นสังคมแห่งองค์ความรู้ที่สมบูรณ์มากขึ้น และยังเป็นการช่วยลดช่องว่างของการเข้าถึงเทคโนโลยี (Digital Divide)” ซึ่ง Gelsinger คาดการณ์ว่า “Atom Core” จะทำงานด้วยความเร็ว 1.6 GHz รองรับการทำงานแบบไฮเปอร์เทรดดิ้ง กล่าวคือ ซีพียูหนึ่งคอร์สามารถประมวลผลได้เหมือนกับซีพียูแบบดูอัลคอร์ ทำให้ชิปอะตอมดูอัลคอร์จะประมวลผลในรูปแบบเดียวกันกับชิปแบบควอดคอร์
ส่วน Craig R. Barrett ประธานของอินเทล คอร์เปอเรชั่น กล่าวว่า เขารู้สึกชื่นชมต่อชุมชนนักพัฒนาที่สร้่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ธุรกิจและเทคโนโลยีเพื่อความบันเทิงก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่สภาพไร้พรมแดนในโลกไอที เพราะเทคโนโลยีคือเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถตอบสนองต่อความท้าทายเร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน ทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสภาพแวดล้อม
Steve Norman ผู้ช่วยผู้จัดการของ Industrial and Distribution Business Unit NEC Electronics (Europe) GmbH ได้ยกตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตฝังตัวมาใช้กับเครื่องใช้ที่ใกล้ชิดชีวิตประจำวันของมนุษย์ นั้นก็คือ เครื่องซักผ้าอินเทอร์เน็ตฝังตัวจะทำให้เครื่องซักผ้าสามารถแสดงเมนูการทำงานและคำสั่งต่าง ๆ ด้วยภาษาที่เปลี่ยนไปตามประเทศที่เครื่องซักผ้านั้นถูกนำไปติดตั้งใช้งาน โดยเชื่อมโยงจากฐานข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การปรับคุณภาพของน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของผ้าที่ซัก  นอกจากนี้เครื่องยังสามารถตั้งโปรแกรมให้ผู้ใช้จ่ายค่าบริการตามที่ซักได้ด้วย (Pay-per-wash) ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจให้บริการเครื่องซักผ้าอัตโนมัติแก่ผู้ที่ไม่ต้องการซื้อเครื่องซักผ้าเป็นของตนเอง หรือหากต้องมีการปรับราคาค่าบริการให้สูงขึ้นหรือต่ำลงก็สามารถ update ค่าบริการไปยังเครื่องซักผ้าต่าง ๆ ได้พร้อม ๆ กันจากส่วนกลาง แม้กระทั่งเวลาที่เครื่องมีปัญหา เครื่องก็สามารถแจ้งปัญหาเข้ามายังเจ้าของได้ หากปัญหาไม่รุนแรงผู้ดูแลก็จะทำการซ่อมจากระยะไกลได้ (Remote Fix) ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องโทรศัพท์ตามช่าง เพราะช่างจะได้รับแจ้งปัญหาดังกล่าวจากเครื่องซักผ้าโดยอัตโนมัติทาง e-Mail  ยิ่งกว่านั้นผลิตภัณฑ์ยังสามารถควบคุมการใช้พลังงานอย่างประหยัดที่สุด เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ
ไม่เพียงเท่านั้น เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตฝังตัวที่อยู่ในเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านยังช่วยให้เจ้าของบ้านทำการตรวจสอบว่าขณะนี้ที่บ้านเป็นอย่างไรโดยอัตโนมัติผ่านทางเว็บเบราเซอร์จากทุก ๆ ที่ในโลกขณะที่เขาเหล่านั้นกำลังพักผ่อนในช่วงสุดสัปดาห์ เจ้าของบ้านไม่จำเป็นต้องโทรศัพท์มาถามเพื่อนบ้านเช่นในอดีตอีกต่อไป
มีผู้กล่าวกันว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเป็นยุคแห่งวงจรสมองกลฝังตัว (Embedded Boom) หรือโลกไอทีจะเข้าสู่ยุคการประมวลผลที่มองไม่เห็น (Invisible Computing) โดยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนรูปโฉมไปมีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นและประมวลผลในหลายลักษณะ การเข้าสู่ยุคแห่งวงจรสมองกลฝังตัวดังกล่าว เป็นผลมาจากจำนวนผู้ใช้อุปกรณ์โมบาย (Mobile Devices) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีจำนวนครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือ Broadband Internet จาก 100 ล้านครัวเรือน เป็นมากกว่า 500 ล้านครัวเรือน และปริมาณข้อมูล Interactive ที่เพิ่มขึ้น โดยมีเนื้อหาในเครือข่ายเพิ่มขึ้นเป็น 40 เท่าตัว รวมทั้งการเติบโตของธุรกรรมด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตขึ้นถึง 100 เท่าตัว

ภัยคุกคามที่มากับ Embedded Internet
ศูนย์ประสานงานการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ThaiCERT) ได้กล่าวถึงภัยคุกคามทางคอมพิวเตอร์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ มัลแวร์ สปายแวร์ หรือ Hacker ที่จะมากับเทคโนโลยี UPnP หรือ Universal Plug and Play ซึ่งเป็นบริการที่อนุญาตให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถค้นหาและใช้งานอุปกรณ์อื่นผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายใต้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแบบฝังตัว พบว่ามีช่องโหว่ที่ถูกค้นพบอย่างน้อย 2 จุดด้วยกัน ช่องโหว่แรกเกี่ยวข้องกับ Buffer Overrun ซึ่งหากผู้บุกรุกส่ง NOTIFY directive ที่ผิดปกติมายังเครื่องเป้าหมายแล้ว จะทำให้ผู้บุกรุกสามารถควบคุมเครื่องเป้าหมายได้ทันที ส่วนช่องโหว่ที่สองนั้นเกิดขึ้นเนื่องจาก UPnP ไม่สามารถจำกัดขั้นตอนของการค้นหาข้อมูลจากอุปกรณ์ใหม่ที่ถูกค้นพบ โดยปกติแล้วอุปกรณ์ใหม่จะส่ง NOTIFY directive มาเพื่อแจ้งว่าให้เครื่องที่รัน UPnP สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการของอุปกรณ์ใหม่และวิธีในการเข้าใช้งานได้จากที่ใด ซึ่งอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่อธิบายดังกล่าวอาจจะเป็น Third-party server ซึ่งไม่ใช่อุปกรณ์ใหม่ดังกล่าวก็ได้ และ UPnP เองก็ไม่สามารถทำงานตามกระบวนการดังกล่าวได้ ก่อให้เกิดการโจมตีแบบ DoS (Denial of Service) ที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบด้วยกันคือ
รูปแบบแรก ผู้บุกรุกจะส่ง NOTIFY directive มายังเครื่องที่รัน UPnP เพื่อแจ้งว่าให้ไปดาวน์โหลดข้อมูลที่อธิบายการใช้งานอุปกรณ์ตัวใหม่ได้จากเซิร์ฟเวอร์ใดและ port ใด ถ้าเซิร์ฟเวอร์ถูกตั้งให้รับ echo service ใน port ดังกล่าวแล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์ที่รัน UPnP ดังกล่าวจะเกิดการวนลูปของการดาวน์โหลดที่ว่างเปล่า ทำให้ทรัพยากรภายในเครื่องถูกใช้ไปจนหมด ผู้บุกรุกสามารถส่ง Message ดังกล่าวนี้ไปยังเป้าหมายได้โดยตรงโดยใช้หมายเลข IP Address หรืออาจจะส่ง Message ดังกล่าวไปยัง Broadcast Address เพื่อส่งให้กับทุกเครื่องที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดการโจมตีที่รุนแรงมากขึ้น
รูปแบบที่สอง ผู้บุกรุกจะส่งรายชื่อเซิร์ฟเวอร์ที่เป็น Third-party มาให้ผ่านทาง NOTIFY directive ซึ่งหากมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์ใดสนองตอบ (Response) ก็จะก่อให้เกิดการโจมตีแบบ Flood ไปยัง Third-party Server ดังกล่าวได้ ถือได้ว่าเป็นการโจมตีแบบ DDoS (Distributed Denial of Service) เช่นเดียวกับแบบแรก ผู้บุกรุกสามารถส่ง Message นี้ตรงไปยังเป้าหมายโดยใช้หมายเลข IP Address หรืออาจจะส่ง Message ดังกล่าวไปยัง Broadcast Address เพื่อส่งให้กับทุกเครื่องที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดการโจมตีที่รุนแรงมากขึ้น
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือบางตัวอย่างของภัยคุกคามที่จะมาพร้อม ๆ กับอินเทอร์เน็ตฝังตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในโลกอินเทอร์เน็ตแล้ว ย่อมไม่อาจไว้วางใจในความปลอดภัยใด ๆ ได้เลย ภัยคุกคามนั้นจะมีอยู่รอบด้าน เช่นเดียวกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน และที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นก็คือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตฝังตัวอาจนำไปสู่การก่อการร้าย การก่อวินาศกรรมในรูปแบบที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ทิศทางการพัฒนา
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฝังตัวไว้ดังนี้
         1.
เสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้สามารถแข่งขันได้ เป็นแหล่งผลิตซอฟต์แวร์ฝังตัว (Embedded Software) ที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ
         2.
ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีซอฟต์แวร์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฝังตัว และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำซอฟต์แวร์ผังตัวไปใช้กับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น
         3.
พัฒนากำลังคนด้านซอฟต์แวร์ฝังตัว ทั้งกำลังคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมแล้ว ให้มีทักษะความรู้ความสามารถเฉพาะทางในการปฏิบัติงานและส่งเสริมโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ
ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่าภาครัฐควรส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฝังตัว โดยผ่อนคลายกฎระเบียบ ขั้นตอนการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในธุรกิจดังกล่าว และผลิตบุคลากรเพื่อรองรับตลาดแรงงานนี้ โดยให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วย

บทส่งท้าย
Embedded Internet ในวันนี้ จึงเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในอุปกรณ์ซึ่งมีส่วนประกอบของอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และด้วยเทคโนโลยี IPV6 อุปกรณ์ทุกอย่างในโลกนี้จึงสามารถมี IP Address ได้โดยไม่ต้องกลัวว่า IP Address จะขาดแคลนเช่นเดียวกับกรณี IPV4
IPV6 ทำให้เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลาที่ต้องการ เพราะในโลกอนาคต อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นเครือข่ายสื่อสารหลักเฉกเช่นเดียวกับโครงข่ายการให้บริการไฟฟ้าในปัจจุบัน หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาด้านไอทีของไทยจึงต้องเตรียมตัวรองรับเทคโนโลยีดังกล่าว ทั้งในฐานะผู้ผลิตและผู้ใช้งาน
แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแบบฝังตัวจะเกิดประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อเรามีโครงข่ายการสื่อสารข้อมูลเพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตด้วยต้นทุนต่ำและครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่เช่นนั้นมันก็เหมือนกับมีเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ไม่มีไฟฟ้า สุดท้ายก็จะไม่มีประโยชน์อันใด

VoIP Phone เทคโนโลยีโทรศัพท์แห่งอนาคต

เทคโนโลยี VoIP หรือ Voice over IP  นั้นเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับการโทรศัพท์ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ซึ่งมีข้อดีอันดับแรก ๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือ  ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการโทรได้  ไม่ว่าจะเป็นการโทรภายในประเทศ  หรือการโทรระหว่างประเทศก็ตาม  เพราะการโทรศัพท์ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานผ่าน ทางชุมสายโทรศัพท์ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายของส่วนที่ให้บริการด้วย  แต่การโทรศัพท์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตนั้นจะเป็นการทำงานโดยอาศัยหลักการเดียว กับการส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต

VoIP  คืออะไร        VoIP  (Voice over IP)  นั้นเป็นการประยุกต์การส่งข้อมูลของอินเทอร์เน็ตมาใช้งาน  ซึ่งโดยปกติการใช้งานอินเทอร์เน็ตจะเป็นการใช้สัญญาณข้อมูลเพียงอย่างเดียว  แต่สำหรับการใช้งาน VoIP นั้นจะเป็นการนำเอาสัญญาณเสียงมารวมเข้ากับสัญญาณข้อมูลเพื่อส่งผ่านไปยัง ระบบเครือข่ายผ่านทางโพรโตคอลที่ใช้สำหรับอินเทอร์เน็ตก็คือ  Internet Protocol  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า IP  ซึ่งตามปกตินั้น IP  จะใช้สัญญาณข้อมูลเท่านั้น  แต่ด้วยเทคโนโลยี VoIP  ที่ทำให้ส่งสัญญาณเสียงได้  ด้วยรูปแบบการส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตจึงทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการ โทรศัพท์ได้เป็นอย่างมาก

การทำงานของ Internet Protocol (IP)
        หัวใจสำคัญของ VoIP ก็คือ Internet Protocol เพราะจะเป็นตัวกลางในการทำหน้าที่สำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างต้นทางและปลาย ทาง  และอย่างที่กล่าวไปแล้วก็คือ  การทำงานผ่าน IP โดยปกติจะเป็นการส่งสัญญาณข้อมูลเท่านั้น  แต่ด้วยการผสมผสานระหว่างเสียงและข้อมูลจึงทำให้ VoIP เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านการพัฒนาและเทคโนโลยีขึ้นมา  และการทำงานของโพรโตคอล  IP สามารถแยกแบบคร่าว ๆ  ได้ก็คือ
-  สัญญาณข้อมูลจะถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆ  เพื่อส่งออกไปตามเส้นทางบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
-  เมื่อข้อมูลที่ถูกแบ่งไปถึงปลายทางจะใช้ระยะเวลาและการทำงานที่ต่างกันซึ่งอาจจะไม่พร้อมกันก็ได้
-  ข้อมูลที่ถึงปลายทางแล้วจะมีโพรโตคอล TCP  ที่จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ส่งมาทั้งหมด
-  ตรวจสอบข้อมูลให้อยู่ในสภาพเดิมเหมือนก่อนที่จะถูกแยกออกเป็นส่วน ๆ
        จาก ขั้นตอนการส่งข้อมูลดังกล่าวผ่านทาง IP  แบบคร่าว ๆ  นั้นจะเห็นได้ว่าส่วนที่สำคัญก็คือ  การแยกไฟล์ขนาดใหญ่ออกเป็นส่วนเล็ก ๆ  หลายส่วนแล้วค่อยส่งออกไป  เมื่อครบทุกส่วนที่ปลายทางแล้วจึงมีการประกอบให้คืนรูปแบบภายหลัง  ถ้าจะมองให้เห็นภาพการส่งข้อมูลแบบเป็นส่วน ๆ  ให้ชัดกว่านี้ก็เปรียบเทียบได้กับการใช้งานโปรแกรมช่วยดาวน์โหลด  เช่น  Flashget  ที่จะมีการแยกไฟล์เป็นส่วน ๆ  ในการดาวน์โหลดเพื่อเพิ่มความเร็วในการทำงาน  และที่สำคัญก็คือ  ช่วยลดเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นการทำงานในรูปแบบ IP  จึงมีความสำคัญต่อการสื่อสารด้วยเสียงผ่านเทคโนโลยี VoIP  เป็นอย่างมากเพราะนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่าย  และเพิ่มความเร็วด้วยการแยกไฟล์ข้อมูล (เสียงหรือข้อมูล)  ออกเป็นส่วน ๆ  แล้วยังเพิ่มประสิทธิภาพนอกเหนือจากการติดต่อสื่อสารผ่านทางเสียงเพียงอย่าง เดียวให้สามารถทำงานเกี่ยวกับทางด้านข้อมูลไปในตัวด้วย
เหตุผลในการเลือก VoIP
        สำหรับการเลือกใช้งาน VoIP มาเป็นส่วนของการช่วยโทรศัพท์นั้น  ก็เนื่องจากว่า  ในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตได้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย  และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลหรือหน่วยงาน ของเอกชนก็ตาม  จะต้องมีอินเทอร์เน็ตไว้ใช้ในองค์กร  ที่สำคัญก็คือ  อินเทอร์เน็ตแบบความเร็วสูงที่กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ  และด้วยการขยายตัวของดระบบเครือข่ายสัญญาณข้อมูล Data Network  ที่มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่าการขยายตัวของการสื่อสารด้วยเสียง  จึงเหมาะสำหรับผู้ใช้งานในทุกระดับที่มีอินเทอร์เน็ตไว้ใช้งานเพราะด้วย เทคโนโลยีของ VoIP  นั้นจะช่วยให้คุณสามารถนำเอาการรับส่งสัญญาณข้อมูลและสัญญาณเสียงได้พร้อม กัน  ทำให้เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน  และด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้จึงทำให้ VoIP  ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
VoIP เหมาะสำหรับใคร???        อย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นว่าใคร ๆ ก็สามารถใช้เทคโนโลยี VoIP ได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือว่าจะเป็นการใช้ตามบ้านก็ตาม  เพราะด้วยต้นทุนที่ต่ำและสามารถนำเทคโนโลยีรวมถึงอุปกรณ์ที่มีอยู่มาใช้งาน ได้ทันที  โดยที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องลงทุนติดตั้งระบบหรือรื้อระบบใหม่  เพราะ VoIP ยังคงทำงานผ่านพื้นฐานของกานให้บริการอินเทอร์เน็ตอยู่  อย่างไรก็ดี VoIP นั้นก็ยังคงต้องอาศัยทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ในการทำงาน  ซึ่งถ้าเป็นการใช้งานตามบ้านทั่วไปที่มีการโทรข้ามจังหวัดหรือโทรศัพท์ข้าม ประเทศนั้นเพียงติดตั้งซอฟต์แวร์และเสียค่าบริการให้กับผู้ให้บริการ VoIP ก็ใช้งานได้แล้ว  ซึ่งผู้ใช้บริการ VoIP ส่วนมากจะเป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศ  แต่สำหรับองค์กรขนาดใหญ่หรือจะเป็น SME  ที่มีปริมาณการโทรมากก็จำเป็นที่ต้องอาศัยทั้งซอฟต์แวร์และฮร์ดแวร์  หรือองค์กรที่มีเครือข่าย Leased Line, Frame Relay, ISDN  แม้กระทั่งเครือข่าย E1/T1  ก็สามารถนำอุปกรณ์ดังกล่าวนำมาประยุกต์ใช้งาน VoIP ได้เช่นกัน

มาตรฐานของ VoIP
        การติดต่อสื่อสารในแบบต่าง ๆ  ก็ย่อมต้องมีมาตรฐานขึ้นมาเป็นตัวกำหนดเพื่อให้ผู้ผลิตทั้งทางฮาร์ดแวร์และ ซอฟต์แวร์ได้อ้างอิงการทำงานบนมาตรฐานเดียวกันและ VoIP  จะมีมารฐานอยู่ 2 มาตรฐานด้วยกันคือ  มาตรฐาน H.323  และมาตรฐาน SIP  มาตรฐานเหล่านี้เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า  “Call Control Technologies”  ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการนำเทคโนโลยี VoIP  มาใช้งานสำหรับการสื่อสาร
-  มาตรฐาน H.323
เป็น มาตรฐานที่มีการนำมาใช้งานกันในช่วงแรก ๆ ของเทคโนโลยี VoIP  เสมือนหนึ่งว่าถูกนำมาใช้งานชั่วคราว  เพราะมาตรฐาน H.323 ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานชั่วคราว  เพราะมาตรฐาน H.323 ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับกับการทำงานผ่าน IP  และข้อเสียอีกประการของมาตรฐาน H.323  ก็คือ  จะทำงานได้ค่อนข้างช้า
-  มาตรฐาน SIPด้วย มาตรฐาน SIP  ถือไดว่าเป็นมาตรฐานใหม่ที่ออกมารองรับกับ VoIP ซึ่งถูกออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับ IP โดยเฉพาะ  โดยในส่วนของการทำงานนั้นจะทำงานคล้ายคลึงกับการทำงานแบบ Client-Server Protocol  และถือว่ามาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่เหมาะกับการเริ่มต้นใช้งานใหม่เป็นอย่าง มาก

ซอฟต์แวร์ VoIP        ซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการทำงานของ VoIP นั้นก็มีอยู่หลายตัว  แต่ที่ได้รับความนิยมรวมถึงที่ออกมาใหม่นั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 3 โปรแกรม  ซึ่งแต่ละโปรแกรมก็กำลังเร่งพัฒนาให้โปรแกรมของตนมีคุณภาพรวมถึงความปลอดภัย ในการทำงานให้มากขึ้นกว่าเดิม
- Skype เป็นโปรแกรม VoIP โปรแกรมแรก ๆ ที่ออกมาซึ่งเป็นการให้บริการที่มีทั้งแบบที่ใช้งานฟรีและแบบที่ต้องเสียค่า บริการ  จึงทำให้ Skype มียอดผู้ใช้งานในแต่ละวันเป็นจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน  จากผู้ใช้งานทั่วโลก  ด้วยการใช้งานที่ง่ายและรองรับกับระบบปฏิบัติการทั้งวินโดวส์ Mac  และ Linux
-  Google Talk  เรียกได้ว่าเป็นโปรแกรมน้องใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาประสิทธิภาพใน การทำงานให้ดีมากยิ่งขึ้น  เพราะถึงแม้ว่าตัวโปรแกรมยังเป็นเวอร์ชันทดสอบ  แต่ก็สามารถใช้งานในส่วนของ VoIP  ได้อย่างไม่มีปัญหา
-  Gizmo Project  เป็นโปรแกรมที่อยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งานเช่นกัน  ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงาน VoIP ที่ดีแต่ก็ยังคงมีปัญหาอยู่บ้างบางส่วนของการใช้งาน
ข้อดีของ VoIP
-  ประหยัดค่าใช้จ่าย  ด้วยการนำเอา VoIP มาใช้นั้นจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ  ได้เป็นอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์  ซอฟต์แวร์  หรือจะเป็นทางด้านระบบของโทรศัพท์  เพราะเมื่อคิดค่าใช้จ่ายจากค่าบริการหรือค่าอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว  เมื่อมีปริมาณการโทรทางไกลจำนวนมากในระยะยาวก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีก หลายเท่าตัว
-  เหมาะกับการประชุมทางไกล  เมื่อมีเหตุจำเป็นจะต้องประชุมผ่านทางโทรศัพท์ทั่วไปนั้นอาจจะเกิดปัญหาของ การติดต่อสื่อสารได้  แต่ด้วย VoIP จะช่วยทำให้สามารถติดต่อสื่อสารด้วยเสียงไปพร้อมกับการรับส่งข้อมูลได้ทันที
-  รับ-ส่งไฟล์ได้โดยตรง  การติดต่อผ่าน VoIP นั้นจะสามารถส่งไฟล์ให้กันได้โดยตรงผ่านระบบ P2P  โดยอาศัยเพียงแค่ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ VoIP เท่านั้นก็สามารถใช้งานได้

ข้อจำกัดของ VoIP-  คุณภาพเสียง  ถึงแม้ว่าจะมีราคาและค่าใช้จ่ายในการโทรที่ถูกกว่าโทรศัพท์ทั่วไป  แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือคุณภาพของเสียงสนทนาที่จะด้อยลง  ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการลดคุณภาพของเสียงลงเพื่อที่จะส่งไปยังปลายทางได้ เร็วมากขึ้น
-  อุปกรณ์ในการทำงาน  การโทรศัพท์ด้วย VoIP นั้นถ้าเป็นผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไป  ก็จำเป็นที่จะต้องมีทั้งคอมพิวเตอร์  อินเทอร์เน็ต  และไมโครโฟนพร้อมลำโพง  ซึ่งต่างจากโทรศัพท์ธรรมดาที่จะมีเพียงแค่สายโทรศัพท์และตัวเครื่องโทรศัพท์ เท่านั้น

        "จะ เห็นได้ว่าด้วยเทคโนโลยี VoIP ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นให้ประโยชน์ต่อการติดต่อสื่อสารทางไกลเป็นอย่างมาก  ซึ่งเหมาะกับทั้งผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไป  และผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ  และถึงแม้ว่า VoIP จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการติดต่อสื่อสารด้วยเสียงและข้อมูลด้วยราคาที่ ประหยัดและคุ้มค่ากว่า  เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าจับตามองก่อนที่จะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ  ที่กำลังจะเกิดขึ้นมา"